สกุลเงิน
ภาษา
ตะกร้าสินค้า

แนวทางรักษาโรคออฟฟิศ ซินโดรม ที่เหมาะสม

หมวดหมู่: บทความ

ออฟฟิศ ซินโดรม เป็นชื่อเรียกของโรคที่เกิดจากการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำ ๆ หรือนั่งทำงานในท่าทางที่ไม่เหมาะเป็นเวลานาน จนทำให้กล้ามเนื้อไม่สามารถยืดหรือเหยียดได้อีกต่อไป โดยบทความชิ้นนี้เราจะมาแบ่งปันสาระเกี่ยวกับอาการ ออฟฟิศ ซินโดรม และแนวทางการแก้ออฟฟิศ ซินโดรม ให้ทุกคนได้นำไปปรับใช้กัน ซึ่งจะมีรายละเอียดอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลย

 

สาเหตุของออฟฟิศ ซินโดรม

  • เกิดจากสภาพแวดล้อม รวมถึงอุปกรณ์ทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น โต๊ะหรือเก้าอี้นั่งทำงานอยู่ในระดับที่ไม่สมดุลกัน ซึ่งทำให้เกิดความไม่เหมาะสมกับสรีระของผู้ใช้งาน
  • เกิดจากสภาพร่างกาย เช่น ความเครียดจากการทำงาน การพักผ่อนไม่เป็นเวลา รวมถึงการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลาก็มีส่วนเช่นกัน

 

อาการ ออฟฟิศ ซินโดรม เกิดได้ 3 ลักษณะดังนี้

 

  • การปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน เช่น ปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ เป็นต้น ซึ่งบางรายอาจมีอาการปวดร้าวทั่วไปที่ไม่รุนแรง จนถึงปวดรุนแรงไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ
  • อาการที่เกิดขึ้นกับระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น อาการวูบ ขนลุก เหงื่อออก รวมถึงเป็นเหน็บตามบริเวณที่ปวด หากปวดคออาจมีอาการมึนงง หูอื้อ ตาพร่ามัวร่วมด้วย
  • อาการที่ทำให้ระบบประสาทถูกกดทับ เช่น อาการชาที่แขนและมือ รวมถึงอาการมือไม้อ่อนแรง เนื่องจากมีการกดทับเส้นประสาทนานจนเกินไป

 

แนวทางการแก้ออฟฟิศ ซินโดรม 

  • การผ่อนคลายกล้ามเนื้อด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่เราสามารถเริ่มทำได้ทันที ซึ่งจะช่วยให้เอ็นข้อต่อและเส้นใยกล้ามเนื้อได้รับการยืดเหยียดอย่างเหมาะสม รวมถึงช่วยป้องกันการฉีกขาดของเส้นใยกล้ามเนื้อ โดยในระยะเริ่มต้นที่ยังมีอาการปวดจากโรคออฟฟิศ ซินโดรมไม่มาก ควรใช้ยานวดแก้ปวดสูตรครีม นวดตรงบริเวณที่ปวดกล้ามเนื้อ หลังเสร็จสิ้นจากการนั่งทำงานในแต่ละวัน เพื่อให้กล้ามเนื้อรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
  • หากเราไม่สามารถผ่อนคลายกล้ามเนื้อด้วยตนเอง ควรเลือกใช้บริการนวดแผนไทยก็จะสามารถจัดการกับอาการปวดหลัง รวมถึงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพได้เช่นกัน
  • การฝังเข็มมีกระบวนการที่ช่วยให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาท ซึ่งจะออกฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลางที่ระดับไขสันหลัง ทำให้เราไม่รู้สึกปวด กล้ามเนื้อได้รับการผ่อนคลาย และอยู่ในสภาพปกติ
  • การรับประทานยาเป็นแนวทางที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตนเอง แต่ควรอ่านฉลากยา รวมถึงปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร และกินยาอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ยาสามารถออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

สรุป

 

ควรสังเกตลักษณะของโรคออฟฟิศ ซินโดรม ที่เราพบว่ามีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่เราจะสามารถเลือกแนวทางการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ รวมถึงเราควรปรับพฤติกรรมการใช้กล้ามเนื้อให้เหมาะสม หาเวลาออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาวของเรา

 

ใบอนุญาตเลขที่ ฆท. 62/2566

19 มีนาคม 2567

ผู้ชม 202 ครั้ง

Engine by shopup.com